11 กันยายน 2554

ไทยพลัดถิ่นในเขตตะนาวศรี


ไทยพลัดถิ่นในเขตตะนาวศรี หรือที่ทางราชการเรียกว่า ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทย[1] เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทยสยาม ที่อพยพมาอยู่ตั้งแต่ก่อนสมัยสุโขทัย หลังการยึดครองของอังกฤษ ชาวไทยเหล่านี้จึงกลายเป็นสัญชาติพม่า แต่ก็ยังไปมาหาสู่กับญาติพี่น้องฝั่งไทยตลอด และมีชาวไทยในเขตตะนาวศรีที่เข้ามาทำคลอดในฝั่งไทย และต้องการให้บุตรเป็นสัญชาติไทย เพราะมีความเกี่ยวดองกับฝั่งไทย และส่วนใหญ่ทางแถบจังหวัดเกาะสอง(วิกตอเรียพอยท์) ของพม่าก็มีชาวไทยมากมาย แต่ในปัจจุบันยังถือว่าชาวไทยกลุ่มนี้เป็นกลุ่มคนไร้สัญชาติ

เนื้อหา

 [ซ่อน]

[แก้]ประวัติ

ในหลักศิลาจารึกมีบันทึกว่า ดินแดนของอาณาจักรไทยทางฝั่งตะวันตกในรัชสมัยพ่อขุนรามคำแหงมหาราช ได้แผ่ขยายไปจนถึงหงสาวดีจดอ่าวเบงกอล และในบันทึกของมิชชันนารีที่เข้ามาติดต่อกับไทยสมัยกรุงศรีอยุธยา ก็ได้บันทึกชื่อของเมืองทวายและตะนาวศรีว่าเป็นเมืองในอาณาจักรสยาม ตามปรากฏในพงศาวดาร
ในด้านประวัติศาสตร์ตะนาวศรีปรากฏตัวและมีฐานะเป็นรัฐอิสระก่อนการเกิดอาณาจักรพะโค เมาะตะมะ อังวะ สุโขทัย และอยุธยา เอกสารประวัติศาสตร์หลายชิ้นระบุว่า ตะนาวศรีเป็นเมืองที่ก่อตั้งโดยกลุ่มคนสยาม[2] ชาวต่างชาติที่เดินทางเข้าสยามสมัยอยุธยาระบุว่า มะริดและตะนาวศรีเป็นสมบัติของกษัตริย์สยาม[3] สยามสมัยพระนารายณ์มหาราชมีอาณาเขตแผ่ถึงปัตตานี ลาว ภูเขียว เขมร อังวะ พะโค และมะละกา มีเมืองท่าสำคัญคือมะริดและภูเก็ต และมีจังหวัดสำคัญคือ พิษณุโลก ตะนาวศรี กรุงเทพฯ และเพชรบุรี[4][5][6] เอกสารบางชิ้นระบุการดำรงอยู่ของชาวสยามในมณฑลตะนาวศรี อาทิคณะราชทูตจากเปอร์เซียที่กล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ. 2228 "ตะนาวศรีเป็นเมืองอุดมสมบูรณ์มีพลเมืองที่เป็นคนสยามประมาณ 5-6 พันครัว"[7]
ในอดีตที่ผ่านมา เช่นในรัชสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช หรือสมเด็จพระนเรศวรมหาราช เมืองมะริด และตะนาวศรี ถือเป็นเมืองที่มีความสำคัญมากของไทย เนื่องจากเป็นเมืองที่พ่อค้าต่างประเทศทางอินเดีย และยุโรปนำสินค้าจากทางเรือขึ้นมาค้าขายในเมืองไทย ถึงกับมีการแต่งตั้งเจ้าเมืองที่มีความรู้ความสามารถให้ปกครองดูแล และด้วยความสำคัญทางยุทธศาสตร์เช่นนี้ ในอดีตไทยกับพม่าจึงมักมีศึกชิงเมืองมะริด ตะนาวศรี กันบ่อยครั้ง
ตลอดช่วงประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ไทยและพม่า ได้ผลัดกันเข้าครอบครองดินแดนทั้ง 3 นี้ แม้บางช่วงจะอยู่ในฐานะหัวเมืองที่ไม่ขึ้นกับใครโดยตรง เช่นในปีพ.ศ. 1883 ที่พระยาเลอไทย ราชโอรสของพระเจ้ารามคำแหงได้ขึ้นครองราชย์สมบัติแทน หัวเมืองมอญได้ประกาศอิสรภาพไม่ขึ้นกับไทย และได้มาตีเอาเมืองทะวายและตะนาวศรีจากไทยไปได้
กรมพระยาดำรงราชานุภาพ บิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย เคยได้ให้ทัศนะว่า เมืองตะนาวศรี และเมืองทวายเป็นเมืองขึ้นของไทยมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย พม่าชิงเอาไปสมัยพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองได้กรุงศรีอยุธยา เมืองทวายมีไพร่บ้านพลเมืองเป็นทวาย เมืองตะนาวศรีมีไพร่บ้านพลเมืองมีทั้งพวกเม็งหรือมอญและไทยปะปนกัน ผู้คนเมืองมะริดมีญาติพี่น้องอยู่ในกรุงศรีอยุธยา[8]
หรือในยุคสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลาย เมื่อปี พ.ศ. 2302 ซึ่งเป็นช่วงของรัชสมัยสมเด็จพระที่นั่งสุริยาศน์อัมรินทร์ รัชกาลสุดท้ายแห่งกรุงศรีอยุธยา พระเจ้าอลองพญากษัตริย์พม่าได้ยกกองทัพมาตีเมืองทวายซึ่งขณะนั้นแข็งเมืองอยู่ และได้ยกพลตามมาตีเมืองมะริดและตะนาวศรีของไทยไปได้ด้วย หลังจากนั้นในปี พ.ศ. 2330 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้พยายามยกทัพไปตีเมืองทวายคืนจากพม่า แม้จะไม่สำเร็จ แต่ในอีก 4 ปีต่อมา คือ พ.ศ. 2334 เมืองทะวาย ตะนาวศรี และมะริด ก็มาสวามิภักดิ์ขอขึ้นกับไทย
ในปี พ.ศ. 2366 ปลายรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย อังกฤษเริ่มเข้ายึดหัวเมืองชายฝั่งทะเลของพม่า รวมทั้งตะนาวศรี มะริด และทวาย ซึ่งเป็นเมืองหลวงของภาคตะนาวศรี พร้อมทั้งได้ส่งเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจทำแผนที่ เพื่อจะได้รู้จักสภาพภูมิประเทศ ทรัพยากร และขอบเขตของเมืองที่ตนยึดได้ เมื่อมาถึงทิวเขาตะนาวศรีจึงได้ทราบว่าฝั่งตะวันออกของทิวเขาตะนาวศรีเป็นอาณาเขตของประเทศไทย
ภายหลังในปี พ.ศ. 2408 จึงได้ส่งข้าหลวงใหญ่อังกฤษประจำอินเดียมาติดต่อกับรัฐบาลไทยเพื่อขอให้มีการปักปันเขตแดนระหว่างไทยกับพม่าของอังกฤษเป็นการถาวร ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว
การปักปันเขตแดนไทย-พม่าอย่างเป็นทางการครั้งแรกของไทย ในการให้สัตยาบันครั้งนี้ถือเป็นการยอมรับอย่างเป็นทางการตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ว่าเมืองมะริด ทะวาย และตะนาวศรี เป็นดินแดนของประเทศพม่าที่อยู่ในบังคับของอังกฤษ นับตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2411 เป็นต้นมา
ในช่วงปี พ.ศ. 2408 – 2410 มีการตั้งคณะข้าหลวงปักปันเขตแดนไทย-พม่า เพื่อดำเนินการร่วมสำรวจและชี้แนวเขตแดนของตนตั้งแต่จังหวัดแม่ฮ่องสอน จนถึงจังหวัดระนอง โดยฝ่ายไทยได้แต่งตั้งเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมุหกลาโหม ผู้บังคับหัวเมืองฝ่ายใต้เฉียงตะวันตก เป็นข้าหลวงมีอำนาจเต็ม และมี เจ้าพระยายมราช (ครุฑ บ่วงราบ) เสนาบดีกรมเวียง พระยาเพชรบุรี (เทศ บุนนาค) หรือ พระยาสุรินทรฤๅชัย (เทศ บุนนาค) ต่อมาคือ เจ้าพระยาสุรพันธ์พิสุทธิ์ (เทศ บุนนาค) เจ้าเมืองเพชรบุรี และพระยาชุมพร(กล่อม) เจ้าเมืองชุมพร รับผิดชอบตั้งแต่เขตจังหวัดกาญจนบุรี ถึงจังหวัดระนอง ส่วนอังกฤษได้ตั้ง Lieutenant Arthur Herbert Bagge เป็นข้าหลวงมีอำนาจเต็ม
เมื่อการสำรวจทำแผนที่ และทำบัญชีรายละเอียดเกี่ยวกับที่หมายเขตแดนเสร็จเรียบร้อยแล้ว จึงได้มีการประชุมจัดทำอนุสัญญา (Convention) ขึ้นที่กรุงเทพฯ ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2411 และได้มีการให้สัตยาบันกัน ที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2411 ภายหลังจากฝ่ายไทยได้ตรวจสอบเห็นว่าแผนที่ The Map of Tenasserim and the adjacent provinces of the Kingdom of Siam ที่อังกฤษจัดทำขึ้นใหม่นั้นถูกต้องแล้ว นับแต่นั้นแนวพรมแดนระหว่างไทยพม่าตั้งแต่สบเมยถึงปากแม่น้ำกระบุรี จึงได้เปลี่ยนจากเส้นเขตแดนที่ยอมรับโดยพฤตินัย มาเป็นเส้นเขตแดนที่กำหนดขึ้นโดยอนุสัญญา บัญชีที่หมายเขตแดนแนบท้ายอนุสัญญา และแผนที่แนบท้ายอนุสัญญา
ในอนุสัญญา ได้ระบุเส้นเขตแดนตรงแม่น้ำกระบุรีว่า “..ตั้งแต่เขาถ้ำแดงตามเขาแดนใหญ่มาจนถึงปลายน้ำกระใน เป็นเขตแดนจนถึงปากน้ำปากจั่น ลำแม่น้ำเป็นกลาง เขตแดนฝ่ายละฟาก เกาะในแม่น้ำปากจั่นริมฝั่งข้างอังกฤษเป็นของอังกฤษ ริมฝั่งข้างไทยเป็นของไทย เกาะขวางหน้ามลิวันเป็นของไทย แม่น้ำปากจั่นฝั่งตะวันตกเป็นของอังกฤษ ตลอดจนถึงปลายแหลมวิคตอเรีย ฝั่งตะวันออกตลอดไปเป็นของไทยทั้งสิ้น...”
สรุปว่า ในครั้งนั้นกำหนดให้แม่น้ำเป็นกลาง ให้ฝั่งเป็นเขตแดน ฝั่งด้านตะวันตกเป็นของพม่า ฝั่งด้านตะวันออกเป็นของไทย สำหรับเกาะในแม่น้ำถ้าชิดฝั่งตะวันตกก็ให้เป็นของอังกฤษ ถ้าชิดฝั่งตะวันออกก็ให้เป็นของไทย สำหรับเกาะขวางให้เป็นของไทย
กล่าวได้ว่า ในการให้สัตยาบันครั้งนี้ถือเป็นการยอมรับอย่างเป็นทางการตามข้อตกลงระหว่างประเทศ ว่าเมืองมะริด ทวาย และตะนาวศรี เป็นดินแดนของประเทศพม่าที่อยู่ในบังคับของอังกฤษ นับตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2411 เป็นต้นมา
หลังวันที่ 3 กรกฎาคม พ.ศ. 2411 หลวงปักษี (คลุ้ม บ่วงราบ) บุตร เจ้าพระยายมราช (ครุฑ บ่วงราบ) นำกำลังเข้ายึดและปกครองเมืองมะริด ทะวาย และตะนาวศรี อย่างลับๆ ในช่วงอยู่การบังคับของอังกฤษ แต่ไม่ได้รับความร่วมมือจากคนไทยในเมืองมะริด ทะวาย และตะนาวศรี มากนักเห็นว่าการปกครองแบบอาณานิคมดีแล้ว ต่อมาระยะสอง นายคุ้ม บ่วงราบ (เสือคุ้ม) ชาวบ้านรู้จักในนาม "เสื้อคุ้ม" ร่วมกับนายพรานชม ตั้งกองกำลังตีเมืองมะริด ทะวาย ตะนาวศรี อีกครั้ง แต่เกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 จอมพล ป.พิบูลสงคราม จึงขอความร่วมมือตีย่างกุ้ง พร้อมกองทัพญี่ปุ่น เมื่อญี่ปุ่นแพ้สงคราม ก็ไม่มีกำลังต่อสู้พม่าได้ และนายคุ้ม บ่วงราบ ถูกลอบสังหารที่ บ้านบ้องขอน เมืองมะริด พ.ศ. 2489 และนายพรานชม ดูแลกองกำลังและปกครอง จนถึง พ.ศ. 2492 และชาวบ้านบางส่วนเริ่มเดินทางกลับประเทศไทย จนถึง พ.ศ. 2520 หลังจากนี้รัฐบาลพม่าผลักดันอย่างหนัก จนเกิด "ไทยผลัดถิ่นในปัจจุบัน"
เซอร์เจมส์ สก๊อตต์ ระบุว่า ประชากรสยามในมณฑลตะนาวศรีภายใต้จักรวรรดิอังกฤษมีประมาณ 19,631 คน คนสยามอาศัยอยู่ในอำเภอทวาย อัมเฮิสต์ และมะริด[9] กลุ่มคนสยามอาศัยอยู่ในเขตตะนาวศรีในช่วงนั้นตะนาวศรีมีฐานะเป็นมณฑล ประชากรปี พ.ศ. 2444 มีประมาณ 1,159,558 คน ประกอบด้วยคนพม่า กะเหรี่ยง มอญ ฉาน จีน และสยาม คนสยามอาศัยอยู่บริเวณพรมแดนทางตอนใต้ของพม่า โดยเฉพาะอำเภอมะริด อัมเฮิสต์ และทวาย[10] มะริดอยู่ใต้สุดของพม่า ในปี พ.ศ. 2444 มะริดมีประชากรประมาณ 88,744 คน ในจำนวนนี้มีคนสยามอาศัยอยู่ในตัวเมืองมะริดประมาณ 9,000 คน[11] มะริดในตอนต้นศตวรรศที่ 20 แบ่งการปกครองเป็น 5 ตำบล (Township) คือ มะริด ปะลอ (Palaw) ตะนาวศรี ปกเปี้ยน (Bokpyin)[12] และมะลิวัลย์ (Maliwun)[13] ปกเปี้ยนมีประชากร เมื่อปี พ.ศ. 2444 ราว 7,255 คน ร้อยละ 18 พูดภาษาพม่า ร้อยละ 53 พูดภาษาสยาม ร้อยละ 20 พูดภาษามลายู[14] ตำบลมะลิวัลย์มีประชากรประมาณ 7,719 คน ประกอบไปด้วยชาวสยาม ชาวจีน และมลายู และคนพม่าแทบหาไม่พบ[15]ตำบลตะนาวศรีตั้งอยู่ทางตะวันออกสุดของอำเภอมะริด และอยู่ติดแดนสยาม ประชากรปี พ.ศ. 2434 มีประมาณ 8,389 คน เพิ่มขึ้นเป็น 10,712 คน ในปี พ.ศ. 2444 ในจำนวนนี้ร้อยละ 40 พูดภาษาสยาม[16]เมืองสะเทิมอยู่ติดทะเล พื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตที่ราบลุ่มแม่น้ำสาละวิน ครอบคลุมพื้นที่อาณาจักรมอญเดิม ปี พ.ศ. 2444 มีประชากร 343,510 คน ในจำนวนนี้มีชาวสยามประมาณ 10,000 คน[17]
ในหนังสือ Imperial Gazetteer of India ระบุว่าชาวสยามกระจายเป็นคนส่วนน้อยในอำเภออื่นของมณฑลตะนาวศรี เช่นอัมเฮิสต์ และทวาย ในอัมเฮิสต์ (ปัจจุบันคือเมืองไจก์กามี) สยามตั้งอาณานิคมขนาดเล็กของตน[18] ทวายปี พ.ศ. 2444 มีประชากรประมาณ 109,979 คน และเพียง 200 คนเท่านั้นที่แสดงตนเป็นคนสยาม[19]
อย่างไรก็ตามบรรพบุรุษของชาวไทยพลัดถิ่นบางส่วนนั้น ได้อพยพมาจากไทยในช่วงศึกถลาง ซึ่งในช่วงสงครามนี้ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช รัชกาลที่ 1 จากคำบอกเล่าของบรรพบุรุษทำให้คนไทยพลัดถิ่นทราบว่าญาติของพวกเขาบางส่วนโยกย้ายถิ่นฐานหลังสงครามเพราะหนีความวุ่นวายทางการเมือง และภาวะข้าวยากหมากแพงหลังสงครามเพื่อไปตั้งถิ่นฐานอีกฝั่ง การย้ายถิ่นเป็นการโยกย้ายไปอยู่รวมกับวงศาคณาญาติที่เดิมตั้งถิ่นฐานอยู่ก่อนแล้ว[20]
แม้ปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวจะกลายเป็นพื้นที่ของประเทศพม่าไปแล้วแต่ชาวไทยในเขตตะนาวศรียังมีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมเช่นเดียวกันกับคนไทย และรัฐบาลพม่าก็มิได้มีการเข้ามาแทรกแซงในวิถีชีวิตของไทยในพื้นที่ดังกล่าว จนกระทั่งมีการสู้รบกันในประเทศพม่า ทำให้ชาวไทยพลัดถิ่นในตะนาวศรีอพยพกลับมาในฝั่งไทย และได้ร้องขอสัญชาติไทยจากรัฐบาลไทยและรัฐบาลไทยได้ออกบัตรประจำตัวผู้พลัดถิ่นให้ถือระหว่างที่รอขอสถานะการเป็นคนไทย อย่างไรก็ตามยังมีคนไทยพลัดถิ่นจำนวนไม่น้อยที่ตกสำรวจทำให้ไม่มีบัตรประจำตัวผู้พลัดถิ่นดังกล่าว วันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2546 นายประเสริฐ อินทรจักร คนไทยพลัดถิ่นได้ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่จับกุม และตั้งข้อหาความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยคนเข้าเมือง พ.ศ. 2522 และต่อมาวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2548 ศาลจังหวัดระนองได้มีคำพิพากษาว่าคนไทยพลัดถิ่นถือว่าเป็นคนเชื้อชาติไทยแต่ไม่มีสัญชาติไทย สามารถได้รับการผ่อนผันให้อยู่ในราชอาณาจักรไทยได้ ซึ่งศาลได้มองว่าคนเชื้อชาติไทยย่อมจะมีสิทธิอาศัยอยู่ในประเทศไทย แม้ในช่วงที่ยังไม่ได้รับสัญชาติไทย

[แก้]พื้นที่ตั้งถิ่นฐาน


ชาวไทยพลัดถิ่นมุสลิม หรือที่พม่าเรียกว่า "ฉ่าปะซู" หรือไทยมลายู
ในเขตพม่าไทยพลัดถิ่นตั้งหลักแหล่งบริเวณเกาะสอง (Kawthaung) ลุ่มแม่น้ำลังเคี๊ยะ (Lenya) ลุ่มแม่น้ำตะนาวศรี (Tennasserim) และลุ่มน้ำกระบุรีหรือปากจั่น จากหมู่บ้านหรือชุมชนต่างๆ เกือบ 100 แห่ง แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ
  1. ไทยพุทธปักษ์ใต้ ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในชุมชนหรือหมู่บ้านในและรอบๆ ตำบลสิงขร เช่น สิงขร ทุ่งมะพร้าว ทุ่งมะม่วง วังจำปา วังจระเข้ ยางชุม กระเบื้องถ้วย ทรายขาว แหลมยวน ปากคลอง ทุ่งข่า ห้วยทรายขาว ทุ่งทองหลาง หาดแก้ว ยางขวาง ตลิ่งแดง วังใหญ่ หนองโพง ลำมะเท็งและมูกโพรง ในและรอบๆ ตำบลบกเปี้ยน (Bokpyin) เช่น บกเปี้ยน บกเปี้ยนนอก ลังเคี๊ยะ ทุ่งนาไทร หนองเต่า ทุ่งยาว ในแหลม คลองเพชร ทุ่งกร่ำ นิลขวาง ทุ่งแตง ทุ่งใหญ่ เขาพัง สองแพร่ หินลาย บ้านหลา ทุ่งค้อ ตะเภาสุด บางสมภาร ขี้ไฟ ตลิ่งชัน กะแด ห้างเคียน ทุ่งเห็ด ทุ่งยน ทุ่งสะเม็ด ทุ่งใหญ่ ทุ่งพี หัวช้าง ห้างปรุ กะระธุรี (ตลาดสุหรี) ป่าจาก คลองจระเข้ กระทิง ทองหอย ไร่ใต้ แมะตี บ้านดอน ทุ่งปลีก กะทึ่งและทรายปู และในและรอบๆ ตำบลมะลิวัลย์หรือมะลิยุน เช่น เขาพัง คลองบางช่อน มะลิวัลย์และมะรังหรือหมาราง
  2. ไทยมุสลิม ส่วนใหญ่อาศัยอยู่บริเวณด้านตะวันตกของเกาะสองในชุมชนต่างๆ เช่น คลองลามะ เกาะซินตง เจ็ดไม้ แปดไม้ เก้าไม้ สิบไม้ สิบเอ็ดไม้ แหลมแรด หาดยาว บ้านเหนือ ปากคลอง แมะปูเต๊ะ บ้านควน หัวแหลมทราย ช้างพัง อ่าวจีน อ่าวจากนอก อ่าวจากใน อ่าวใบ บ้านทร หาดทรายแดง อ่าวใหญ่ เกาะหลา คลองหม้อขาว คลองหลา แหลมบ้า อ่าวบ้า แหลมสระ กลุ่มนี้เป็นกลุ่มไทยมุสลิมที่พูดภาษาไทยปักษ์ใต้ และมีเครือญาติที่สัมพันธ์กับคนฝั่งไทย เช่น ตะกั่วป่าและบางกล้วย จังหวัดระนอง
  3. ไทยเชื้อสายลาว ในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2394 มีกลุ่มชาวไทยเชื้อสายลาวอพยพออกมาจากแดนไทยแถบจังหวัดราชบุรี เข้าไปอาศัยในเมืองทวายเมาะลำเลิงมะริด และตะนาวศรี และนำสินค้าเข้ามาค้าชายที่บ้านจางวางบัวโรย แขวงเมืองราชบุรี[21] ปัจจุบันชาวไทยเชื้อสายลาวอาศัยอยู่ในเขตตำบลคลองใหญ่ (เหนือตำบลสิงขร) โดยมีชาวอีสานอาศัยอยู่ในหมู่บ้านท่าตะเยี๊ยะเป็นกลุ่มคนที่อพยพจากภาคอีสานเข้าไปตั้งหลักแหล่งเมื่อประมาณหลายสิบปีก่อน ปัจจุบันมีประมาณ 500 คน ชุมชนคลองใหญ่เป็นไทยที่พูดภาษาอีสาน อพยพจากจังหวัดอุดรธานีและจังหวัดเพชรบุรีเข้าไปทำมาหากินในตำบลคลองใหญ่ก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง อย่างไรก็ตาม จากแผนที่ที่จัดทำโดยฝรั่งชี้ว่าตำบลคลองใหญ่เป็นที่ตั้งหลักแหล่งของสยามอพยพมาก่อนปี ค.ศ. 1854 คนกลุ่มนี้เป็นกลุ่มที่สืบทอดวัฒนธรรมจากอีสาน เช่น การทำประเพณีบุญบั้งไฟ และเลี้ยงปู่ตาหรือผีประจำหมู่บ้าน และรักษาวัฒนธรรมอีสานได้เป็นอย่างดี[22]

[แก้]ความเชื่อประเพณี และวัฒนธรรม

คนไทยพลัดถิ่นที่อยู่ในฝั่งประเทศพม่า จะมีความน่าสนใจคือ คนที่นี่จะมีเครือญาติกับคนฝั่งไทย อย่างคนไทยในตำบลสิงขรจะมีเครือญาติกับคนอำเภอบางสะพาน และอำเภอบางสะพานน้อย จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ คนไทยในพม่าจะเชิดชูบูชาและภักดีต่อประมุขของไทย แทบทุกครัวเรือนจะมีพระบรมฉายาลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระราชวงศ์ประดับไว้ตามบ้าน ร่วมจัดงานเฉลิมฉลองพระชนมพรรษา ศึกษาเล่าเรียนภาษาไทย ประวัติศาสตร์ไทย ฝากเงินกับธนาคารไทย ใช้เงินไทย และใช้นามสกุลอย่างไทย[23] คนไทยในพม่าส่วนมากเป็นคนปักษ์ใต้ พูดภาษาไทยถิ่นใต้ในชีวิตประจำวัน แต่คนรุ่นใหม่อ่านและเขียนภาษาพม่าได้ด้วย เพราะทุกคนต้องเข้าเรียนโรงเรียนพม่า แต่ในชีวิตประจำวันพูดภาษาไทย และหลายคนก็เรียน และอ่านหนังสือไทย โดยอาศัยพระภิกษุเปิดสอนในวัด[24]
คนไทยในพม่าส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธนิกายเถรวาทแบบไทย แต่ทางตอนใต้ตั้งแต่ตลาดสุหรีลงไปจนถึงเกาะสองส่วนใหญ่จะนับถือศาสนาอิสลาม ในด้านของศาสนาพุทธจะมีการอุปสมบทตามแบบไทย และเข้ามาบวชในประเทศไทย ด้านอาหารการกินชาวไทยในพม่าส่วนใหญ่จะมีอาหารการกินแบบเดียวกับของคนไทยภาคใต้ของประเทศไทย รักษาความเจ็บป่วยกับหมอ หรือแพทย์แผนโบราณ ใช้ยาหม้อ และยาสมุนไพร และมักกระเดียดไปทางเวทมนตร์คาถา เชื่อในสิ่งลี้ลับ ภูตผี วิญญาณ เจ้าป่า เจ้าเขา เจ้าพ่อ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ อาคม และการอยู่ยงคงกระพัน โชคลาง และการบนบานศาลกล่าว[25] คนไทยในฝั่งพม่ามักแสดงและชมการแสดงการแข่นขันมวยไทย หนังตะลุงชื่อดังของตำบลสิงขร อาทิ หนังสร้อย แสงวิโรจน์ หนังช่วย หนังยอด หนังตะลุงที่แสดงเป็นหนังตะลุงแบบปักษ์ใต้ มโนราห์ที่มีชื่อเสียง คือ มโนราห์อาบ เกตุแก้ว มโนราห์นุ้ย ขันศรี และมโนราห์เคี่ยม[26] ชาวไทยมุสลิมก็มีศิลปะการต่อสู้อย่าง กาโหยง ที่แสดงในเห็นถึงท่วงท่าที่ร่ายรำออกมา[27]
กุลบุตรชาวไทยในเขตตะนาวศรีนิยมเข้ามาบวชเรียนในประเทศไทย โดยปกติจะต้องมาติดต่อค้าขายหรือท่องเที่ยวในประเทศไทย บางคนก็เข้ามาทำงานในภาคใต้โดยไม่ผิดสังเกต เพราะคนพบเห็นหรือฟังเสียงก็เข้าใจว่าเป็นคนใต้ คนไทยในฝั่งตะนาวศรีมีความรักและมีความผูกพันกับแผ่นดินแม่ และภูมิใจในความเป็นไทย[28] กล่างอีกนัยก็คือชาวไทยในฝั่งตะนาวศรียังรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีไทย และวัฒนธรรมไทยไว้ได้อย่างเหนียวแน่น วัฒนธรรมไทยเรื่อใดสูญ หรือเริ่มสูญไปจากแผ่นดินไทยก็ยังอาจหาดูได้ที่นั่น คล้ายจะเป็นตัวแทนของคนไทยในอดีตเมื่อ 50-70 ปีก่อน[29]

[แก้]จำนวนประชากร


แผนที่การอพยพของชาวไทยพลัดถิ่นจากพม่าเข้าสู่ประเทศไทย
ก่อนปี พ.ศ. 2530 กลุ่มคนไทยที่อาศัยอยู่ในเขตบริเวณเกาะสอง ลุ่มแม่น้ำลังเคี๊ยะ ตะนาวศรีและลุ่มน้ำกระบุรี มีประมาณ 41,258 คน แยกเป็นไทยมุสลิมประมาณ 18,280 คน ไทยพุทธ 22,978 คน แต่ปัจจุบันบางส่วนได้อพยพกลับเข้าตั้งหลักแหล่งในฝั่งไทยและกลายเป็นคนไทยพลัดถิ่นในฝั่งไทย (ตัวเลขนี้ ไม่รวมคนไทยในมะริด และสะเทิมที่เอกสารฝรั่งที่จะกล่าวถึงถัดไประบุว่ามีประมาณ 19,000 คนในปี ค.ศ. 1901) นอกจากเขตตะนาวศรีที่มีชาวไทยพลัดถิ่นแล้ว ในรัฐกะเหรี่ยงก็มีชุมชนชาวไทยที่เข้าไปค้าขายในเมืองเมียวดี โดยบางส่วนได้อพยพกลับเข้ามาในไทยโดยทางจังหวัดตาก ชาวไทยพลัดถิ่นในไทยกระจายอยู่ตามเขตเมืองและชนบทของจังหวัดตาก ระนอง ชุมพร พังงา และประจวบคีรีขันธ์ ข้อมูลที่มีอยู่ระบุว่า คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ. 2540 ให้สัญชาติไทยกับไทยพลัดถิ่นโดยการแปลงสัญชาติจำนวน 7,849 คน ไทยพลัดถิ่นจำนวน 2,000 คนกำลังยื่นคำร้องให้รัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทยพิจารณา ที่เหลืออีก 5,000 คนยังมิได้ยื่นคำร้อง กล่าวโดยสรุป ในช่วงปี 2540 มีไทยพลัดถิ่นในไทยอย่างน้อย 14,849 คน ในจำนวนนี้มีคนไทยพลัดถิ่น 7,000 คน และไทยพลัดถิ่นที่ได้รับการแปลงสัญชาติเพื่อรอความเป็นไทยธรรมดาในอีก 25 ปีข้างหน้าจำนวน 7,849 คน
กลางปี พ.ศ. 2545 เครือข่ายไทยพลัดถิ่นสำรวจไทยพลัดถิ่นในเขตจังหวัดระนองและอำเภอท่าแซะจังหวัดชุมพร พบไทยพลัดถิ่นจำนวน 4,740 คน อาศัยอยู่ในเขตอำเภอสุขสำราญ 370 คน อำเภอกะเปอร์ 590 คน อำเภอละอุ่น 480 คน อำเภอกระบุรี 1,350 คน อำเภอเมืองระนอง 1,350 คน อำเภอท่าแซะ จังหวัดชุมพร 600 คน ตัวเลขนี้ไม่รวมไทยพลัดถิ่นในจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งมีไม่น้อยกว่า 1,000 ครอบครัวหรือประมาณไม่น้อยกว่า 7,000 คน ส่วนใหญ่อาศัยอยู่บริเวณด่านสิงขร อำเภอเมืองประจวบคีรีขันธ์ อำเภอทับสะแก อำเภอบางสะพาน และอำเภอบางสะพานน้อย และไทยพลัดถิ่นในจังหวัดพังงา และจังหวัดตาก ที่ยังไม่มีข้อมูลบันทึก

[แก้]เหตุการณ์ธรณีวิบัติภัย

คนไทยพลัดถิ่นซึ่งเป็นคนไทยอยู่ตรงขอบชายแดนไทย – พม่า ตรงบริเวณจังหวัดระนอง ชุมพร และประจวบคีรีขันธ์ คนกลุ่มนี้ ทางพม่าไม่ยอมรับให้เป็นพลเมืองของพม่า ขณะที่ไทยเองก็ไม่ยอมรับญาติร่วมเผ่าพันธุ์ กลุ่มนี้ให้เป็นพลเมืองไทยซึ่งอันเป็นผลพวงมาจากการกำหนดเขตแดนไทย – พม่า ที่กันเอาถิ่นที่อยู่อาศัยของบรรพบุรุษคนไทยกลุ่มนี้ ไปอยู่ในดินแดนฝั่งพม่า ตรงแนวบริเวณชายแดนที่เดินข้ามพรมแดนไปมาหาสู่กันไป – มา แค่ไม่กี่ก้าว ภัยพิบัติสึนามิเที่ยวนี้ มีคนไทยพลัดถิ่น หรือคนไทยไร้สัญชาติ ได้รับผลกระทบเต็มๆ ประมาณ 20 ครอบครัว ร่วม 100 คน
ข้อมูลจาก “นายพิเชษฐ์ แสงคง” ผู้ประสานงานโครงการปฏิบัติการชุมชนเมืองน่าอยู่ระนอง ซึ่งลงไปดูแลช่วยเหลือคนกลุ่มนี้อยู่ในขณะนี้ ปรากฏว่ามี คนไทยพลัดถิ่นเจอภัยสึนามิอยู่ตามจุดต่างๆ ดังต่อไปนี้
  1. ที่บ้านบางเบน อำเภอกะเปอร์ จังหวัดระนอง 8 ครอบครัว ประมาณ 40 กว่าคน
  2. บ้านบางกล้วยนอก หมู่ที่ 3 ตำบลนาคา กิ่งอำเภอสุขสำราญ จังหวัดระนอง 1 ครอบครัว 1 คน
  3. บ้านทะเลนอก ตำบลคุระ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา 1 ครอบครัว 3 คน
  4. บ้านปากเตรียม หมู่ที่ 4 ต่อเนื่องหมู่ที่ 5 ตำบลคุระ อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา 10 ครอบครัว ประมาณ 40 กว่าคน ซึ่งอันนี้ยังไม่นับรวมที่พลัดหลงมาอยู่ที่บ้านน้ำเค็มอีกจำนวนหนึ่ง
ที่มา wikipidia

ไม่มีความคิดเห็น: