22 กรกฎาคม 2554

รังนกแท้ 100% แท้จริงมีผสมแค่ 1% จริงหรือ !?

รังนก

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ภาพประกอบไม่เกี่ยวข้องกับข้อมูล

หลังจากที่มีผู้ร้องเรียนถึงการโฆษณาของผลิตภัณฑ์รังนกที่ระบุว่า เป็น รังนกแท้ 100 % ทั้ง ๆ ที่แท้มีแค่ 1% เศษ อีกทั้งยังใช้คำกำกวม และให้ข้อมูลไม่ครบถ้วนลงบนฉลากสินค้า แต่ผู้ร้องเรียนกลับถูกผู้ประกอบการฟ้องกลับ เหตุเพราะไปลดความน่าเชื่อถือของตัวสินค้านั้น ทางมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จึงได้ทำการตรวจสอบ 4 แบรนด์ดังในตลาด ซึ่งพบว่า มีแบรนด์ดังถึง 3 แบรนด์ ที่เป็นไปตามข้อร้องเรียน จึงได้จับมือกับผู้ร้องเรียนเดินหน้าสู้คดีให้ถึงที่สุด พร้อมร้อง อย. ให้ทบทวนการโฆษณาดังกล่าว

วานนี้ (21 กรกฎาคม) มูลนิธิเพื่อผู้บริโภคร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคภาคตะวันตก ได้แถลงข่าวผลการดำเนินงานคุ้มครองความปลอดภัยด้านอาหารและเฝ้าระวังโฆษณา ผลิตภัณฑ์สุขภาพบนสื่อวิทยุชุมชุนและเคเบิลทีวี ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรมของโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกการคุ้มครองความปลอดภัยด้านอาหารโดยผู้บริโภคภายใต้การสนับสนุนของแผนงานคุ้มครองผู้บริโภคด้านสุขภาพ (คคส.)

จากกรณีที่ นายเธียร ลิ้มธนากุล กรรมการผู้จัดการบริษัทโฆษณารายหนึ่ง ได้ติดตั้งป้ายมีข้อความว่า "ผลวิจัย ม.มหิดล รังนกสำเร็จรูปชื่อดัง ใส่รังนกแท้แค่ 1% เศษ" แต่ถูกสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทยกล่าวหาว่ากระทำผิดจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพโฆษณา ซึ่ง นายเธียร เห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรม เพราะทำไปเพื่อเตือนผู้บริโภค ไม่มีเจตนาลดความน่าเชื่อถือธุรกิจรังนก มูลนิธิจึงได้รับเรื่องไว้ แล้วเก็บตัวอย่างผลิตภัณฑ์รังนกสำเร็จรูปที่วางจำหน่ายทั่วไปในตลาดจำนวน 4 ตราสินค้า พบว่าข้อความที่ นายเธียร ได้นำเสนอบนป้ายโฆษณาเป็นข้อมูลจริงที่ปรากฏชัดเจนจากฉลากบนผลิตภัณฑ์รังนก

ทางด้าน น.ส.สารี อ๋องสมหวัง เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ได้ชี้แจงเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวว่า หลังจากการศึกษาข้อมูลจากผลิตภัณฑ์รังนกสำเร็จรูป 4 ตราสินค้า พบว่า จำนวน 3 ใน 4 ของตราสินค้า ได้ระบุที่ฉลากว่า มีรังนกแห้งเป็นส่วนประกอบจริงแค่ 1% เศษ เท่านั้น ทางมูลนิธิจึงเป็นกำลังใจให้กับนายเธียร และพร้อมที่จะทำการสนับสนุนเพื่อสู้คดีในกรณีที่นายเธียรถูกฟ้องร้องจากผู้ประกอบการบริษัทผลิตรังนก

ขณะที่ นายพชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกการคุ้มครองความปลอดภัยด้านอาหารโดยผู้บริโภค มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า กรณีรังนกสำเร็จรูปนี้ แสดงส่วนประกอบพบว่า รังนกแห้งที่ 1% เศษ และส่วนประกอบอื่น ๆ อีกเล็กน้อย ซึ่งจะเห็นได้ว่าทั้ง 3 ตราสินค้า ไม่มีตราใดที่ระบุส่วนผสม 100% ทำให้เกิดคำถามคือ แล้วส่วนประกอบที่เหลือที่ขาดหายไปนั้น มันคืออะไร สภาพวุ้นในสินค้าแต่ละขวดเป็นส่วนประกอบของอะไร

นอกจากนี้ การติดตราฉลากสินค้ายังก่อให้เกิดความสับสนกับผู้บริโภค เพราะใช้คำกำกวม เช่น คำว่า "รังนกแท้" หรือ คำว่า "รังนกแท้ 100% จากถ้ำธรรมชาติ" ขณะที่บางตราสินค้าใช้คำว่า"เครื่องดื่มรังนก" จากฉลากดังกล่าวจะทำให้ผู้บริโภคเข้าใจว่า ข้อมูลที่ได้เห็นนั้นได้รับรองจากทาง อย. แล้ว ซึ่งทาง อย. ควรต้องชี้แจงข้อเท็จจริงว่า ผู้ประกอบการสามารถใช้คำดังกล่าวบนฉลากได้หรือไม่ ซึ่ง นายพชร ได้ขอแจ้งและเรียกร้องให้ทาง อย. ทบทวนการอนุญาตให้ใช้ข้อความเหล่านี้บนฉลากเพราะอาจจะทำให้เกิดความสับสนแก่ผู้บริโภค และให้ยกเลิกการโฆษณาบนฉลากอาหารเหล่านี้ พร้อมปรับปรุงฉลากใหม่ที่ให้ข้อมูลตามข้อเท็จจริง

ทางด้าน รศ.ดร.ประไพศรี ศิริจักรวาล สถาบันวิจัยโภชนาการ ม.มหิดล เผยว่า ได้ทำการวิเคราะห์ส่วนประกอบสารอาหารในผลิตภัณฑ์รังนกสำเร็จรูปไว้นานแล้ว บนฉลากเขียนไว้ว่ามีรังนก 1% เศษ เมื่อตรวจสอบในทางวิทยาศาสตร์แล้วพบว่า รังนก 1 ขวดมีคุณค่าทางโภชนาการเท่ากับนมสดครึ่งช้อนโต๊ะ หรือถั่วลิสง 2 เมล็ด หรือไข่นกกระทา 1/4 ฟอง จึงอยากให้ผู้บริโภคจะต้องใช้วิจารณญาณในการเลือกซื้อผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ ว่าคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปหรือไม่

งานนี้ทางผู้ประกอบการจะว่าอย่างไร แล้วรังนกแท้จริง ๆ นั้นมีอยู่หรือไม่ หรือเป็นแค่การโฆษณาที่หลอกลวงประชาชนเพียงเท่านั้น ???





อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก

ไม่มีความคิดเห็น: