1.ตั้งสมมติฐานว่า ผู้ที่เริ่มอาชีพยังไม่มีที่ดินเป็นของตัวเอง มีแต่เงินกับความตั้งใจที่จะเลี้ยงโคนมเป็นอาชีพหลักโดยพึ่งพารายได้จากอาชีพนี้โดยตรงครับ
2. เมื่อซื้อที่ดินมาแล้วเริ่มทำฟาร์มจากที่ดินเปล่าพัฒนามาจนถึงสร้างบ้าน สร้างโรงเรือนพักโค สร้างโรงรีดนม ซื้อโคเข้า รอโคคลอด รีดนม ส่งนม รับเงิน
3. การคิดการลงทุน แบบฟาร์มมาตรฐานคิดแบบหลักการของธุรกิจ มีดอกเบี้ย มีค่าเสื่อม ซึ่งต้องใช้เงินมากกว่าเกษตรกรที่ทำแบบพอเพียง ซึ่งเอาวัสดุในพื้นที่ บ้านอาจมีแล้ว โรงเรือนทำแบบง่ายๆ ซึ่งการลงทุนจะต่ำกว่าแบบที่คิดเต็มรูปแบบเชิงธุระกิจครับ
4. ประสิทธิภาพการจัดการฟาร์มและผลผลิตนมต้องได้ตามค่ามาตรฐานหรือสูงกว่าของการเลี้ยงโคนมในเมืองไทยถึงจะได้ผลตอบแทนเท่ากับหรือสูงกว่าที่ประมาณไว้ครับ
ุ5.ราคานมดิบและค่าใช้จ่ายอาหารข้นอาหารหยาบและปัจจัยการผลิตอื่นๆต้องใกล้เคียงกับที่ประมาณการซึ่งเป็นราคา ณ 1มค 2554
6.ท่านที่มีรายการทรัพย์สินที่ต้องลงทุนอยู่แล้วก็จะลงทุนน้อยลงและได้ผลตอบแทนจากการลงทุนจากประมาณการมากขึ้น
7.ข้อมูลที่นำเสนอเป็นข้อมูลที่เกิดจากการเก็บข้อมูล ณ.เวลาหนึ่งอาจจะมีการเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ ผู้นำไปใช้ต้องไปปรับตัวเลขให้ใกล้เคียงกับข้อมูลปัจจุบัน
8. ข้อมูลที่นำมาเสนอ ผมมอบความดีความชอบให้ทีมงานและผู้ที่เกี่ยวข้องที่ให้ข้อมูลที่เป็นจริงครับ
แล้วเราจะเริ่มเลี้ยงวัวนมกี่ตัวดี ถึงจะยึดเป็นอาชีพได้?????
ผมขอย้อนโครงการส่งเสริมการเลี้ยงโคนที่เรียกย่อๆว่าโครงการ คปร ที่เกิดในปี 2539-2542 ที่ส่งเสริมให้เกษตรกรเลี้ยงวัวรีด 5 ตัว พร้อมปัจจัยการผลิต เช่นอาหาร คอกโครีด เครื่องรีดนม มีเกษตรกรเลี้ยงแล้วประสพผลสำเร็จ 60 %และขยายการเลี้ยงมาจนถึงปัจจุบัน อีก 40%
ต้องเลิกจากปัญหาต่างๆ เช่น ให้นมน้อย ขาดทุน ไม่ชอบอาชีพนี้ ล้มเหลวจากการจัดการ และเหตุผลนานับประการ
ส่วนใครจะเลี้ยงครั้งแรกขั้นต่ำควรเริ่ม 10 แม่เป็นอย่างน้อยครับแล้วค่อยๆเพิ่มจำนวนในภายหลังก็ได้
แต่ Model ที่นำมาเสนอนี้เป็นการลงทุนขนาด 20 แม่รีดซึ่งเป็นขนาดเหมาะสมที่จะเริ่มและยึดเป็นอาชีพได้ครับ
ประการแรก ต้องหาซื้อที่ดิน ที่ต้องใกล้แหล่งรวบรวมน้ำนมดิบ ไม่ว่าไปเป็นสมาชิกสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมหรือสมาชิกศูนย์รวบรวมน้ำนมดิเอกชน จากนั้นต้องสร้างบ้านพัก เจ้าของฟาร์มและลูกจ้าง สร้างโรงพักโครีดนม โรงรีดนม โรงเรือน เลี้ยงลูกโค-โคสาว ต้องจัดซื้อโคสาวท้อง 3-6 เดือนที่ดีเข้าฟาร์ม นี่เป็นด่านแรกในการทำธุรกิจนี้ สมมุติฐาน ต้องการเลี้ยงโค 20 แม่รีด และให้นมเฉลี่ย 15 ลิตร/ตัว/วัน
ตารางต้นทุนการผลิตเบื้องต้นของฟาร์มโคนม
รายการ ประสิทธิภาพการผลิต
ผลิตนมดิบรวม (ก.ก.)/วัน................................ 300
ผลิตนมดิบรวมทั้งเดือน (ก.ก.).......................... 9,000
ราคาน้ำนมดิบ (บาท/กก )................................16.00
ขายนมดิบได้ (บาท/เดือน)...............................144,000
ค่าอาหารทั้งหมด(บาท/เดือน)...........................70,350
ต้นทุนค่าอาหาร/นมดิบ 1 ลิตร...........................7.82
กำไรขั้นต้นจากการหักค่าอาหาร(บาท/เดือน)..........73,650
กำไรขั้นต้น (บาท/ ลิตร)....................................8.18
แต่ช้าก่อนนะครับยังมีค่าใช่จ่ายอื่นๆนอกจากค่าอาหารอีกนะครับติดตามต่อไปครับ
เราหาต้นทุนต่อการผลิตนมดิบ 1 ลิตร รายได้และผลกำไร ในฟาร์มเราได้ดังนี้ครับ
กำไร = รายได้ -ค่าใช้จ่าย
1.รายได้จากการขายนมดิบ (รายได้หลัก ยังมีรายอื่นๆอีกเล็กน้อยครับ)
ขายนมดิบได้ (บาท/เดือน) 144,000
2.รายจ่าย
..................................บาท/เดือน.......................%
ค่าอาหาร......................70,350.........................54.00
ค่าเสื่อมพันธุ์..................16,667.........................12.80
ค่าเสื่อมโรงเรือน..............7,917..........................6.08
ค่าเสื่อมเครื่องรีดนม..........1,667.........................1.31
ค่าเสื่อมสาธารณูปโภค.......2,500.........................1.94
ค่าจ้างแรงงาน..................12,000........................9.19
ค่ายาสัตว์และค่าสัตว์แพทย์..3,750.........................2.90
ค่าใช้จ่ายอื่นๆ...................3,750.........................2.90
ค่าดอกเบี้ย.......................11,500.......................8.85
รวม...............130,101......................100
กำไรสุทธิ = 144,000 -130,101 = 13,889 บาท/เดือน
คิดเป็น = 10.7 %
และมีรายได้อื่นๆอีกเช่น การขายมูลวัวเพื่อเป็นปุ๋ยคอก และขายลูกโคตัวผู้ครับ
บางคนอาจจะคิดว่า 13,889 บาทต่อเดือนน้อย แต่อย่าลืมว่าถ้าไม่ได้กู้เงินมาลงทุนและฟาร์มขยายทุกๆปีใช้หนี้หมด หรือค่อยๆเพิ่มแม่วัวจาก 10 ตัวมาเป็น 20 แม่รีดใช้เวลาไม่นานครับไม่เกิน 4 ปี ก็ต้องบวกค่าดอกเบี้ยอีก 11,500 บาท รวมเป็นเงิน 25,389 บาท และท่านอย่าลืมว่าถ้ามีโคพันธุ์ดี ให้ผลผลิตได้มากกว่า 15 กก/ตัว/วัน เป็น 20 กก/ตัว/วัน ก็ทำได้จาก โคพันธุ์ดี อาหารที่ดี การจัดการที่ดี การควบคุมโรคที่ดีก็ทำได้ครับ และกำไรจะมากกว่าประมาณการครับ และยังมีทรัพย์สินเพิ่มจากแม่โคที่เพิ่มอย่างน้อย 25-50 % ของฝูง และการมีอาชีพที่มั่นคงเป็นของตนเอง เป็นนายตนเอง มีเงินเดือนจากนมที่มีให้ทุกเดือน และมีอาชีพส่งต่อให้ลูกๆได้
น่าสนใจใช่ไหมครับแต่มันไม่ใช่จะง่าย หรือยากเกินไปคนที่จะทำอาชีพนี้ คุณสมบัติของผู้เลี้ยงคือ ขยันต้องทำงานทุกวันไม่มีวันหยุด สุขภาพแข็งแรง รักสัตว์ ไม่เอาเปรียบวัว ให้กินอาหารน้อยเพื่อเอากำไรมากๆๆ แม่โคก็ผอม ผสมไม่ติด ไม่ได้นม ไม่มีรายได้ วัวมันก็จะเาเปรียบเราคือกินฟรี ไม่มีรายได้ ผมเรียกว่าวัวตกงานครับ
ทีนี้มาพูดถึงงบลงทุนกันเลยครับ
1. การหาที่ดินเพื่อทำฟาร์มเลี้ยงโคนม 20 แม่รีด ในขณะนี้การเลี้ยงโคนมคงต้องเลี้ยงแบบหนาแน่น(Intensive) คือ เลี้ยงในโรงเรือนใช้พื้นที่น้อยเพราะที่ดินแพงมาก การเลี้ยงแบบนี้ต้องมีพื้นที่อย่างต่ำ 10 ไร่ ถ้าต้องการที่ดินมีเพียงเอกสาร ส.ป.ก หรือใบ บ.ภ.ท5 ท่านหาซื้อได้ราวไร่ละ 50,000 - 60,000 บาท ในเขตการเลี้ยงโคนมที่มีสหกรณ์ผู้เลี้ยงโคนมหรือศูนย์รวบรวมน้ำนมดิบเอกชนมาช่วยด้านการตลาดให้ แต่ถ้าท่านต้องการที่ดินมีเอกสารน.ส.3 ก. ,โฉนด ราคาจะสูงขึ้นไปราว 70,000 - 100,000บาท/ไร่ โดยสรุปสมมติหาที่ดินที่มีเพียงเอกสาร ส.ป.ก หรือใบ บ.ภ.ท 10 ไร่ ต้องลงทุนขึ้นต่ำ 500,000 บาท
2. โรงเรือนโคพัก ถ้าสร้างแบบแข็งแรงใช้ทนทานมีปัญหาน้อยในระหว่างการเลี้ยงภายใน 10 ปี คงต้องลงทุน อย่างน้อยตารางเมตรละ 3,000 - 4,000 บาท โดยเราให้ แม่โคนมมีพื้นที่ตัวละ 15 ตารางเมตร ในการที่เราต้องการ มีแม่โครีดนม 20 ตัวตลอดเวลา เราต้องมีฝูงโคนาง (โคให้ นม - โคดราย) อยู่ราว 120% คือมีราว 25 ตัว (โดยมีสัดส่วน
โครีด: โคดราย 80 % : 20%) โดยปีแรกแม่โคทุกตัวให้ผลผลิตแต่ปีที่ 2 เริ่มมีแม่โคผสมไม่ติดอยู่ราว 20 - 30% ตลอดเวลา และปีต่อๆ ไปด้วย สรุปเงินลงทุนส่วนนี้ = 25 x15 x 3,000 = 1,125,000 บาท
3. โรงเรือนลูกโค - โคสาว การลงทุนในส่วนนี้
เราต้องวางแผนเผื่อไว้ราว 5 - 8 เดือน หลังจากที่เราซื้อแม่โค
สาวท้องเข้าฟาร์มเราที่ตั้งท้องมา 3 - 5 เดือนเป็นอย่างน้อย
ซึ่งแม่โคสาวทั้ง 25 ตัวจะทยอยคลอดไปตามลำดับส่วนนี้ให้
ทำโรงเรือนกว้าง x ยาว 10 x 12 เมตร รวมอุปกรณ์กรงเลี้ยง
ลูกโค ค่าก่อสร้างตารางเมตรละ 3,500 บาท
สรุปเงินลงทุน = 3,500 x 10 x 12 = 420,000 บาท
4. โรงรีดนมและอุปกรณ์ เงินลงทุนในส่วนโรงรีด ให้ใช้พื้นที่ต่อแม่โค 5 ตารางเมตร/ตัว โดยคิดจากแม่โครีด 20 ตัว = 100 ตารางเมตร ค่าก่อสร้าง 3,000 บาท/ตารางเมตร ส่วนอุปกรณ์การรีดนมประมาณ 100,000 บาท
สรุปเงินลงทุนส่วนโรงรีด = 20 x 5 x 3,000 = 300,000 บาท
อุปกรณ์เครื่องรีด = 100,000 บาท
รวมเงินลงทุน = 400,000 บาท
5. เงินลงทุนแม่โคสาวเลี้ยงจนถึงคลอดลูก 25 ตัว ตัวละ 40,000 บาท สรุปเงินลงทุนส่วนนี้ 25 x 40,000 = 1,000,000 บาท
6. เงินลงทุนบ้านพักสำหรับเจ้าของฟาร์มและคนงาน
สรุปเงินลงทุนบ้านพัก = 500,000 บาท
7. เงินลงทุนในสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า บาดาล ถนน รั้ว
สรุปเงินลงทุนส่วนนี้ = 300,000 บาท
สรุปเงินลงทุนในการเลี้ยงโคนมให้มีโคนมรีดนมตลอดปี 20 ตัว ดังนี้
1.เงินลงทุนในที่ดิน 10 ไร่ ประมาณ.........................500,000 บาท
2. เงินลงทุนในโรงพักแม่โค.................................1,125,000 บาท
3. เงินลงทุนในโรงรีด.........................................400,000 บาท
4. เงินลงทุนในโรงเรือนลูกโค - โคสาว..................420,000 บาท
5. เงินลงทุนในแม่โคสาว - จนถึงคลอด 25 ตัว........1,000,000 บาท
6. เงินลงทุนบ้านพักเจ้าของและคนงาน...................500,000 บาท
7. เงินลงทุนสาธารณูปโภค.................................300,000 บาท
8. เงินลงทุนหมุนเวียนอื่นๆ..................................300,000 บาท
รวมเงินลงทุน 4,545,000 บาท
มีน้อยคนที่สนใจเลี้ยงที่ไม่มีอะไรเลยนอกจากเงิน อย่างน้อยบ้านต้องมีอยู่แล้ว ที่ดินน่าจะมีเช่นกัน ก็ลดอย่างน้อย 1 ล้านบาทครับ ส่วนโรงเรือนและสาธารณูปโภคอาจจะทำแบบประหยัดได้เช่นกัน
จะเห็นว่าการลงทุนในการประกอบอาชีพเลี้ยงโคนมลงทุนไม่ได้น้อยเลย จึงต้องตั้งใจเข้ามาประกอบ อาชีพนี้เพราะลงทุนสูง ไม่ใช่มาทำแบบมือสมัครเล่น โอกาสประสบความสำเร็จต่ำมาก ต้องเอาใจใส่ให้ความสำคัญกับการเลี้ยง การจัดการที่ละเอียดอ่อนโดยเฉพาะต้องทำให้แม่โคคลอดลูกช่วงห่างของการให้ลูกแต่ละตัว ไม่ควรเกิน 430วัน(Calving Interval) ถึงจะได้กำไรในแต่ละช่วงของการให้นม(Lactation) จึงจะอยู่ได้ในธุรกิจนี้
จากการคิดต้นทุนการผลิตน้ำนมต่อลิตร จะเห็นได้ว่า ค่าอาหารเป็นต้นทุนการผลิตหลัก ประมาณ 54% ของต้นทุนทั้งหมด ดังนั้น เราควรที่จะให้ความสนใจพิเศษในการจัดการด้านอาหารและการให้โปรแกรมอาหารแม่โคในฟาร์ม โดยเฉพาะการจัดการโปรแกรมอาหารตามแบบของซีพี จะช่วยทำให้คุ้มค่าการผลิตมากที่สุด
นอกจากนี้หากว่าเรากู้เงิน 1 ล้านบาท เพื่อมาทำฟาร์มเลี้ยงโคนมและกำหนดให้มีค่าใช้จ่ายต่างๆ ตามรายละเอียดที่กล่าวมาแล้วทั้งหมด
ข้างต้น โดยเริ่มจากการซื้อโคสาวที่ตั้งท้อง 3 เดือนมาเลี้ยง ผมได้ลองทำการวิเคราะห์กระแสเงินสด (Cash flow analysis)ดู จะพบว่า เราทำการเลี้ยงโคสาวท้องเหล่านี้อีก 6 เดือนก็จะคลอด (โคนมทั้งท้อง 9 เดือน) ถ้าแม่โคทั้ง 10 ตัวนี้ได้นมเฉลี่ยที่ 16 ลิตร/ตัว จะสามารถถึงจุดคุ้มทุน (Breakeven) ได้เมื่อสิ้นปีแรกของการตั้งฟาร์ม หมายถึงว่าถ้าเริ่ม
สร้างฟาร์มเดือนมกราคม โคคลอดพร้อมกันทุกตัว เดือนมิถุนายนก็เริ่มรีดนมขายได้ พอถึงสิ้นเดือนมกราคมปีถัดมาก็สามารถที่จะถึงจุดคุ้มทุนและเริ่มทำกำไรได้บ้างแล้ว จากนั้นกำไรจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นตามความสามารถในการจัดการฟาร์มของผู้เลี้ยงเอง ทั้งทางด้านอาหาร การจัดการ การป้องกันควบคุมโรคต่างๆ และในทางตรงกันข้ามถ้าโครีดทั้ง
10 ตัวนี้ได้นมเฉลี่ยน้อยกว่า 16 ลิตร/ตัว/วัน (อันเนื่องจากการจัดการแม่โคที่ไม่ถูกต้องก่อนและหลังคลอดหรือได้โคนมที่พันธุ์ไม่ดีมาเลี้ยง) ก็จะขาดทุนในการลงทุนเชิงธุรกิจและต้องใช้เวลานานกว่าที่จะถึงจุดคุ้มทุนการผลิต
โดยสรุปแล้ว ในการทำฟาร์มโคนมนั้น สิ่งที่จะช่วยให้มีกำไรมาก น้อยหรือขาดทุนจนต้องเลิกเลี้ยงไปขึ้นอยู่กับความสามารถในการจัดการฟาร์มของผู้เลี้ยงเป็นหลัก ต้องมีความเข้าใจในการวางแผนการจัดการฟาร์มให้เป็นระบบ มุ่งให้ความสำคัญทั้งด้านพันธุ์ อาหารและการจัดการสมัยใหม่ไปพร้อมๆ กัน โดยเฉพาะตามแบบการจัดการฟาร์มของ
ซีพี สำหรับโคในแต่ละระยะทั้งแม่โครีดนม แม่โคดรายและลูกโค โครุ่น โคสาว ที่จะเลี้ยงไว้เพื่อทดแทนฝูง
เพราะจุดอ่อนส่วนมากของเกษตรกรคือ มุ่งเน้นให้ความสำคัญเฉพาะ
กับแม่โครีดนมมากจนละเลยการจัดการในส่วนของโคดรายและโคทดแทนฝูง เพราะไปมองว่าโค 2 กลุ่มนี้ไม่ได้ให้ผลผลิตอะไร แต่ที่จริงแล้วอนาคตของฟาร์มขึ้นอยู่กับโคทั้ง2 กลุ่มนี้เป็นหลัก ถ้าจัดการไม่ดีก็จะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเรื่อยๆ และขาดทุนในที่สุด
ดังนั้นต้องเปลี่ยนแนวคิดใหม่ ต้องมองการจัดการฟาร์มโคนมทั้งระบบเป็นองค์รวมเพราะทุกๆ ส่วนในฟาร์มล้วนเป็นต้นทุนของการผลิตทั้งสิ้นจากนั้นเราจึงจะสามารถวางแผนดำเนินการและประเมินผลการลงทุนการทำฟาร์มได้อย่างเป็นระบบ จนสามารถทำกำไรได้คุ้มค่ากับการลงทุนทำฟาร์มโคนมในที่สุด
สรุปโคนมเป็นอาชีพพระราชทาน มีเกษตรกรจำนวน 20,000 รายกระจายทั่วประเทศ ผลิตนมได้วันละ 2,000 ตัน ยังไม่พอกับความต้องการบริโภคภายในแต่กลไกราคานม ถูกควบคุมด้วยราคานมพร้อมดื่ม นมโรงเรียน และราคานมผงที่นำเข้าจากต่างประเทศ ทำให้ราคานมดิบที่เกษตรกรได้รับบางครั้งไม่เหมาะสมกับต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น
จึงมีผู้ที่เข้ามาทำอาชีพนี้ไม่มาก เพราะผลิตยากแล้วยังต้องมาต่อสู้กับการปรับราคานมที่ต้องผ่านมติรัฐมนตรี ทำให้ราคาปรับช้า
เกษตรรายเล็กสายป่านสั้น ประสิทธิภาพต่ำ ขาดทุนเลิกเลี้ยง ล้มหายตายจากอาชีพนี้ไปที่เหลืออยู่ก็เป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้าปรับตัวได้ดี แต่อย่าให้เขารับภาระหนักนานๆ เราอาจจะซื้อนมทุกหยดจากต่างประเทศ ถึงเวลานั้นคนไทยจะกินนมแพงกว่าปัจจุบันนี้แน่นอนครับ
5 ความคิดเห็น:
ได้ความรู้มากครับ
แต่หน้าจามีของฟามเลี้ยงหมูด้วยครับ ผมอยากรู้
น้ำนมเฉลี่ย 16 กก.ต่อวัน มากกว่าค่าเฉลี่ยของเกษตรกรทั่วประเทศหลาย กก. แสดงว่าต้องกว่าคนส่วนใหญ่มากทีเดียว
แล้วตัดจำนวนวันที่วัวหยุดรีดนมไปหรือยัง ไม่รู้ว่าในหนึ่งปีรีดกี่วัน หรือใน 1 ปีหยุดรีดกี่วันกันนะ
มีวัวเพิ่มทุกปี แล้วที่ปลดออกทุกปีวัวแบบไหนมากกว่ากัน
บังเอิญปีแรก ได้ลูกวัวสาว 20 ตัว(โชคดีสุดๆ) คงจะกำไรน่าดู
แสดงความคิดเห็น