เชื่อหรือไม่ว่า แอปเปิล อิงค์ (Apple Inc.) หรือชื่อเดิมว่า "แอปเปิล คอมพิวเตอร์ อิงค์" ยักษ์ใหญ่ด้านไอทีสัญชาติอเมริกันซึ่งติดอันดับหนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุด และเป็นบริษัทด้านเทคโนโลยีที่มีมูลค่าสูงที่สุดของโลก ผู้ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ตระกูล " Macintosh " และสินค้าไอทีสุดล้ำอย่าง"iPod " , " iPhone" รวมถึง " iPad" ตลอดจนการคิดค้นระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ "Mac OSX" อันเลื่องชื่อ ได้มีอายุครบ 35 ปีบริบูรณ์ในวันที่ 1 เม.ย. 2011นี้พอดิบพอดี...
นับ จากจุดเริ่มต้น แอปเปิล อิงค์ ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อวัน "April Fools' Day" 1 เม.ย. ปี ค.ศ. 1976 ที่เมืองคิวเพอร์ทิโน ในมลรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ด้วยฝีมือของชาย 3 คนที่มีแนวคิดและความมุ่งมั่นตรงกันในอันที่จะร่วมปฏิวัติวงการคอมพิวเตอร์ และไอทีของโลกให้ได้ ชาย 3 คนที่ว่า ประกอบด้วย สตีเวน พอล จ็อบส์ หรือ "สตีฟ จ็อบส์", สตีเฟน แกรี วอซเนียค และรอนัลด์ เจอราล์ด เวย์น (ก่อนที่เวย์นจะขอถอนตัวหลังจากนั้นไม่ถึง 1 ปี)
ในช่วง 3 ทศวรรษแรกนับแต่ก่อตั้ง บริษัทใช้ชื่อว่า "Apple Computer, Inc." ก่อนจะตัดเอาคำว่า "Computer" ทิ้งไป คงเหลือไว้แต่ "Apple Inc." นับตั้งแต่วันที่ 9 ม.ค. 2007 เป็นต้นมา เพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงของบริษัทที่มิได้มุ่งผลิตแต่คอมพิวเตอร์ ส่วนบุคคลออกสู่ท้องตลาดเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป หากแต่เริ่มมีการผลิตสินค้าไอทีสุดล้ำประเภทอื่นๆ ออกสู่ท้องตลาดอย่างต่อเนื่อง
ความสำเร็จของแอปเปิล อิงค์ในช่วงหลายปีมานี้ ส่งผลให้นิตยสารด้านธุรกิจและการเงินชื่อดังอย่าง "ฟอร์จูน" ของสหรัฐฯ ต้องประกาศเชิดชูให้แอปเปิลมีสถานะเป็นบริษัทที่น่ายกย่องชื่นชมที่สุดบน แผ่นดินอเมริกาในปี 2008 และรั้งตำแหน่งบริษัทที่ยกย่องชื่นชมที่สุดของโลกถึง 3 ปีซ้อนตั้งแต่ปี 2008 -2010 นอกจากนั้น ในปี 2010 ที่ผ่านมา ยอดรายได้จากตลาดต่างๆ ทั่วโลกของทางบริษัทยังทำสถิติพุ่งสูงกว่า 65,230 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.97 ล้านล้านบาท ทั้งที่เศรษฐกิจโลกยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่จากภาวะถดถอยซบเซา
อย่าง ไรก็ดี เส้นทางแห่งความสำเร็จขององค์กรชื่อดังแห่งนี้กลับ "มิได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ" แต่อย่างใด เพราะกว่าที่แอปเปิล อิงค์จะมีวันนี้ได้ บริษัทต้องประสบภาวะล้มลุกคลุกคลานและเจออุปสรรคขวากหนามมากมาย อีกทั้งยังเคยถูกเย้ยหยันถากถางจากคู่แข่งและนักวิจารณ์มาแล้วนับครั้งไม่ ถ้วน
ในช่วงปี 1976–1980 หรือยุคก่อตั้งบริษัทใหม่ๆ แอปเปิลพยายามนำเสนอความแปลกใหม่ให้กับตลาดอย่างต่อเนื่อง ด้วยการเปิดตัวสินค้าหลายรุ่น เริ่มตั้งแต่ในเดือน ก.ค. 1976 ที่มีการเปิดจำหน่ายเจ้าคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่มีชื่อว่า "Apple I" ซึ่งเป็นสินค้าตัวแรกของบริษัทอย่างเป็นทางการด้วยสนนราคาในขณะนั้น 666.66 ดอลลาร์สหรัฐฯ ตามติดมาด้วยการคลอด "Apple II " เมื่อเดือน เม.ย. 1977 ซึ่งทำให้ตลาดเริ่มยอมรับสินค้าจากค่ายแอปเปิลมากยิ่งขึ้นจากนวัตกรรมที่ได้ รับฉายาว่า "the first "killer app" of the business world" อย่างเจ้าโปรแกรม "VisiCalc spreadsheet " ที่ใช้ทำใบปลิวและเอกสารแบบง่ายๆ ที่มากับเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลรุ่นที่ 2 ของแอปเปิลนี้
เมื่อ คอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล 2 รุ่นแรกเริ่มได้รับการยอมรับจากตลาดมากขึ้น แอปเปิลจึงเร่งเดินหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์ตัวใหม่ ก่อนจะมีการเปิดตัว "Apple III " ในเดือน พ.ค. 1980 เพื่อหวังให้เป็นคู่แข่งกับคอมพิวเตอร์จากค่ายคู่แข่งอย่าง "ไอบีเอ็ม" และ "ไมโครซอฟท์" แต่ผลลัพธ์กลับไม่เป็นไปตามคาด ถือเป็นความล้มเหลวครั้งแรกที่ทำให้แอปเปิลสูญเสียมิใช่น้อย และดูเหมือนในช่วงแรกของการก่อตั้งบริษัทนั้น ผู้บริหารของแอปเปิลเองจะมุ่งเน้นการขาย "ระบบปฏิบัติการ" มากกว่าที่จะเน้นขายตัวผลิตภัณฑ์คอมพิวเตอร์ ทั้งนี้ เหตุผลหลักประการหนึ่ง อาจเป็นเพราะการที่ประสิทธิภาพคอมพิวเตอร์ของแอปเปิล ยังไม่อาจเทียบชั้นได้กับคอมพิวเตอร์ของบริษัทคู่แข่งในเวลานั้นนั่นเอง
เมื่อ ก้าวเข้าสู่เข้าทศวรรษที่ 1980 สตีฟ จ็อบส์ หันไปร่วมทีมพัฒนาคอมพิวเตอร์อีกรุ่นที่มีชื่อว่า "Apple Lisa" ในช่วงปี 1978 แต่กลับถูกขับออกจากทีมในอีก 4 ปีต่อมา หลังเกิดความขัดแย้งภายในทีม ทำให้จ็อบส์หันไปทำโครงการพัฒนาคอมพิวเตอร์ "Macintosh" ที่ทางบริษัทตั้งใจให้เป็นคอมพิวเตอร์ราคาย่อมเยาว์แทน แต่ถึงกระนั้น ปัญหาความขัดแย้งภายในองค์กรระหว่างทีมวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ต่างๆ ที่มุ่งแข่งขันชิงดีชิงเด่นกัน ก็ยังคงเป็นปัญหาหลักที่ "กัดกร่อน" แอปเปิลอย่างต่อเนื่อง
ที่สำคัญที่สุด คือ การที่สตีฟ จ็อบส์ โดนขับออกจากบริษัทในปี 1985 ทั้งๆ ที่เขาร่วมก่อตั้งบริษัทมาเองกับมือ และความขัดแย้งภายในนี่เองที่ทำให้แอปเปิลไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร ตลอดทศวรรษที่ 1980 เรื่อยไปจนถึงช่วงกลางของทศวรรษที่ 1990 ทั้งที่มีการคลอดผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง โดยยอดขายเครื่องคอมพิวเตอร์แม็คอินทอชที่เคยสูงโดดเด่นกลับลดลงอย่างต่อ เนื่องทุกปี เนื่องด้วยปัจจัยหลัก 2 ประการ คือ ราคาที่สูงเกินไป และการที่ซอฟต์แวร์ที่จะมารองรับการใช้งานกลับมีอย่างจำกัด ตรงกันข้ามกับบริษัทคู่แข่งอย่างไมโครซอฟท์ที่สามารถเพิ่มส่วนแบ่งการตลาด ได้มากขึ้นเรื่อยๆ จากการมุ่งเน้นพัฒนาและนำเสนอซอฟต์แวร์ใหม่ที่ใช้งานง่าย และมีราคาจำหน่ายที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้
ในปี 1996 หลังจากที่จิล อเมลิโอก้าวขึ้นมารับตำแหน่งซีอีโอของบริษัท เขาพยายามสร้างความเปลี่ยนแปลงหลายอย่างภายในองค์กรเพื่อให้บริษัทที่กำลัง มีสถานะทางการเงินย่ำแย่ได้อยู่รอดต่อไป หนึ่งในนั้นคือการปลดพนักงานออกเป็นจำนวนมาก ในช่วงเวลานี้เองอเมลิโอได้ตัดสินใจดึงตัวสตีฟ จ็อบส์กลับมาทำงานใต้ชายคาแอปเปิลอีกครั้งในตำแหน่ง "ที่ปรึกษา" ก่อนที่อเมลิโอจะโดนปลดในเวลาต่อมา และจ็อบส์ได้รับการแต่งตั้งให้ขึ้นแท่นซีอีโอสืบแทนในช่วงกลางปี 1997 โดยหน้าที่หลักของจ็อบส์ในฐานะซีอีโอในเวลานั้นมีเพียงประการเดียวเท่านั้น คือ การหาทางทำให้บริษัทที่เขาตั้งมากับมือได้อยู่รอดต่อไป โดยไม่ต้องปิดตัว
ตลอดระยะเวลา 12 ปีหลังจากนั้น สตีฟ จ็อบส์ ทุ่มเททำงานอย่างหนักในการปลุกปั้นแอปเปิลให้ก้าวขึ้นมาเป็นยักษ์ใหญ่ด้านไอ ทีของสหรัฐฯได้อย่างน่าอัศจรรย์ ผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลหลายตัว เช่น เครื่องคอมพิวเตอร์แบบ "Macintosh 128K"หรือที่รู้จักกันทั่วไปในชื่อ " iMac" กลายเป็นหนึ่งในคอมพิวเตอร์ที่ขายดีที่สุดของโลก โดยสามารถทำยอดขายได้ถึง 800,000 เครื่องภายในระยะเวลาเพียงแค่ 5 เดือนแรกนับจากการเปิดตัว และผลิตภัณฑ์ใหม่อีกหลายตัวที่จ็อบส์ทยอยส่งออกสู่ตลาดต่างก็ได้รับความนิยม อย่างสูง ส่งผลให้บริษัทเริ่มกลับมามีกำไร และเริ่มทำรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ แต่ถึงกระนั้น ส่วนแบ่งการตลาดของแอปเปิลก็ยังคงห่างจากคู่แข่งสำคัญอย่างไมโครซอฟท์อยู่ หลายขุม และแรงกดดันตรงจุดนี้เองที่ทำให้หลายฝ่ายเชื่อว่า นำไปสู่ความเครียดและปัญหาด้านสุขภาพของจ็อบส์ จนต้องประกาศพักงานนาน 6 เดือนในวันที่ 14 ม.ค. ปี 2009
หลังการลาป่วย จ็อบส์ กลับเข้ามานำทัพแอปเปิลอีกครั้ง ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์หลากหลายประเภทของแอปเปิลในช่วงหลังจากนั้น ต่างก้าวขึ้นมายึดหัวหาดครองใจผู้บริโภคในตลาดได้อย่างสง่างาม ไม่ว่าจะเป็นโทรศัพท์อัจฉริยะตระกูล "iPhone", เครื่องคอมพิวเตอร์แท็บเล็ต "iPad" รวมถึงเพื่อนซี้ของนักฟังเพลงอย่าง "iPod" ส่งผลให้ในเดือน พ.ค. ปี 2010 ยอดมาร์เก็ต แค็ป ของแอปเปิลสามารถแซงหน้าคู่แข่งอย่างไมโครซอฟท์ได้เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 1989 เป็นต้นมา
ขณะที่เดือน ต.ค.ปีเดียวกัน ราคาหุ้นของแอปเปิลก็ทำสถิติพุ่งสูงสุดถึงหุ้นละ 300 ดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นครั้งแรก เรียกได้ว่า เมื่อถึงตอนนี้ สตีฟ จ็อบส์ ประสบความสำเร็จในการนำพาแอปเปิลก้าวขึ้นแท่นยักษ์ใหญ่ไอทีเบอร์หนึ่งของโลก ได้อย่างเต็มภาคภูมิแล้ว
อย่างไรก็ดี ในวันที่ 17 ม.ค. 2011 สาวกไอทีทั่วโลกก็ต้องตะลึง เมื่อจ็อบส์ประกาศลาป่วยเป็นครั้งที่ 2 ในรอบ 3 ปี แถมยังเป็นการลาป่วยแบบไม่มีกำหนด ท่ามกลางข่าวลือเรื่องสุขภาพที่เริ่มย่ำแย่ลงของเขาจากอาการป่วยด้วยมะเร็ง ร้ายที่อาจทำให้เขาไม่อาจกลับมานำทัพแอปเปิล อิงค์ได้อีก
ดังนั้น จึงไม่ผิดนักหากจะกล่าวว่า วันเกิดครบรอบปีที่ 35 ของแอปเปิลในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ถือเป็นช่วงเวลาที่เป็น "หัวเลี้ยวหัวต่อ" สำคัญอีกครั้งของบริษัท หลายคนเริ่มตั้งคำถามว่า แอปเปิล อิงค์ จะเดินต่อไปอย่างไร หากไร้เงาของชายที่ชื่อ สตีฟ จ็อบส์ แม้สาวกของแอปเปิลจำนวนไม่น้อยจะยังคงเชื่อมั่นอยู่ลึกๆ ว่า บริษัทขวัญใจของตนแห่งนี้ไม่น่าจะมีปัญหาในการอยู่รอด เนื่องจากมีโครงสร้างและรากฐานอันยอดเยี่ยมที่จ็อบส์ได้วางเอาไว้ตลอดหลายปี ที่ผ่านมานั่นเอง แต่ผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไรนั้นก็เป็นเรื่องที่ทุกท่านต้องติดตามกันอย่าง ใกล้ชิดต่อไป.
ขอขอบคุณข้อมูลและภาพประกอบจาก
http://www.thairath.co.th/content/oversea/160339
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น