ก่อนเกิดแผ่นดินไหว
1.ให้สมาชิกในครอบครัวมีความรู้ในเรื่องการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และวิธีการเพื่อความปลอดภัย เช่น การปิดวาล์ว ก๊าซหุงต้ม ท่อน้ำประปา สะพานไฟ การใช้เครื่องมือดับเพลิง ฯลฯ
2.จัดเตรียมสิ่งต่อไปนี้ไว้ใกล้ตัว เช่น วิทยุ ไฟฉาย ถ่านไฟฉาย อุปกรณ์ดับเพลิง น้ำดื่ม อาหารแห้ง ชุดปฐมพยาบาล
3.ให้ความรู้แก่สมาชิกในครอบครัวทุกคน เกี่ยวกับข้อควรปฏิบัติ เพื่อความปลอดภัย เมื่ออยู่ในสถานที่ต่าง ๆ ระหว่างเกิดแผ่นดินไหว
4.วางแผนนัดแนะล่วงหน้า ว่าถ้าต้องพลัดหลงแยกจากกัน ทุกคนในครอบครัวจะกลับมาพบกันที่ใด
5.ไม่ควรวางสิ่งของที่มีน้ำหนักมากไว้ในที่สูง และควรผูกยึดเครื่องใช้ เครื่องเรือน ครุภัณฑ์สำนักงาน กับพื้นหรือฝาผนังให้แน่นหนา
6.ให้สมาชิกทุกคนในบ้านทราบหมายเลขโทรศัพท์ของสถานที่ที่ควรจะติดต่อในกรณีฉุกเฉิน เช่นหน่วยดับเพลิงเทศบาล สถานีตำรวจดับเพลิง ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเทศบาล หรือโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้บ้าน เป็นต้น
การสังเกตธรรมชาติก่อนเกิดแผ่นดินไหว
1.พฤติกรรมของสัตว์ ได้แก่ การตื่นกลัว วิ่งวุ่น นกร้องผิดปกติในเวลากลางคืน การเคลื่อนย้ายของแมลงชนิดต่าง ๆ
2.ระดับน้ำ สังเกตได้จากระดับน้ำที่เปลี่ยนอย่างกระทันหันในบ่อน้ำต่าง ๆ
ขณะเกิดแผ่นดินไหว
1.ถ้าอยู่ในอาคารสูง ให้ออกห่างจากหน้าต่าง และฉากกั้นห้องซึ่งอาจล้มลงได้ และให้หลบเข้าใต้โต๊ะที่อยู่ใกล้เสา หรือผนังห้อง
2.ถ้าอยู่ในอาคาร ให้อยู่กับที่ หลีกเลี่ยงจากสิ่งของที่อาจจะร่วงหล่นลงมาได้ ควรอยู่ในส่วนของอาคารที่มีโครงสร้างแข็งแรง และออกห่างจากหน้าต่างกระจก ระเบียง หาที่กำบังและยึดให้มั่น และหลังจากการสั่นสะเทือนยุติลง ให้รีบออกจากอาคารทันที
3.อย่าใช้ลิฟต์
4.ถ้าอยู่ภายนอกอาคาร ให้ออกห่างจากตัวอาคาร กำแพง เสาไฟฟ้า สะพาน ต้นไม้ ฯลฯ
5.ในที่ชุมชนหรือห้างสรรพสินค้า อย่าเบียดแย่งกันออก ควรออกห่างจากชั้นวางของ หรือสิ่งที่อาจจะตกหล่นได้
6.ถ้าอยู่ในรถ ให้จอดในที่โล่งจนกว่าการสั่นสะเทือนจะหยุดลง ระวังเสาไฟฟ้าล้มหรือถนนทรุด รวมถึงสะพานลอยพัง และคอยฟังข่าวเตือนภัย
7.ในท้องถนน ให้หาที่กำบังจากเศษวัสดุที่อาจจะร่วงหล่นลงมาได้
หลังเกิดแผ่นดินไหว
1.ปิดสวิตซ์ไฟฟ้า วาล์วก๊าซหุงต้ม ประปา และห้ามจุดไม้ขีดไฟ จนกว่าจะได้ตรวจสอบการรั่วของก๊าซ หรือน้ำมันเชื้อเพลิงแล้ว
2.สำรวจผู้ได้รับบาดเจ็บ จัดการปฐมพยาบาลเบื้องต้น หากมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ห้ามเคลื่อนย้ายผู้บาดเจ็บสาหัส ยกเว้นกรณีต้องหลีกเลี่ยงสถานที่ที่ไม่ปลอดภัย
3.ตรวจการชำรุดของท่อน้ำทุกประเภท ทั้งท่อประปา ท่อน้ำโสโครก และสายไฟฟ้า
4.หลีกเลี่ยงการใช้โทรศัพท์ เว้นแต่กรณีจำเป็นจริง ๆ เช่น มีผู้บาดเจ็บ หรือเกิดไฟไหม้ ฯลฯ เพราะผู้อื่นอาจมีความจำเป็นต้องส่งข่าวสารที่สำคัญกว่า
5.สำรวจความเสียหายของบ้าน/อาคาร เพื่อความปลอดภัย ก่อนจะเข้าไปภายในบ้าน/อาคาร
6.อพยพออกจากอาคารที่ได้รับความเสียหาย และเตรียมพร้อมรับการเกิดแผ่นดินไหวระลอกต่อไป
7.ประหยัดอาหาร น้ำดื่มน้ำใช้ และเตรียมสะสมไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน
8.ติดตามข่าว สถานการณ์ การเตือนภัย และคำแนะนำต่าง ๆ เพื่อความปลอดภัย
9.หลีกเลี่ยงการขับขี่ยวดยานในถนน และเข้าใกล้อาคารที่ได้รับความเสียหาย ยกเว้นกรณีฉุกเฉิน เพื่อไม่ให้กีดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่
10.อย่าตื่นตระหนก และให้ความช่วยเหลือผู้อื่นเท่าที่จะทำได้
ขอให้มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินครับ.
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น